ประเด็นเรื่องปลาหมอเทศคางดำ

Kan Yuenyong
2 min readJul 19, 2024

--

บทความนี้ขอให้เป็นบันทึกหมายเหตุโดยต้องการจะพูดถึงข้อเท็จจริงของข้อมูลที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะประเด็นที่อาจมีผลด้านนโยบายสาธารณะ โดยหลีกเลี่ยงการพาดพิงประเด็นข้อพิพาททางการเมืองให้มากที่สุด

ภาพเปรียบเทียบระหว่างปลานิล (Nile Tilapia) (O. niloticus) (ซ้าย) และ Galilaea Tilapia (S. galilaeus) (ขวา) (ปลาชนิดนี้ไม่มีชื่อเป็นภาษาไทย แต่เราอาจจะเรียกได้ว่า “ปลานิลกาลิลี” หรือ “ปลาหมอเทศกาลิลี“ ก็ได้; มาจากชื่อภูมิภาคกาลิลีของอิสราเอล) จะเห็นว่าแม้จะดูมีรูปร่างคล้ายกันแต่เป็นปลาคนละชนิดกัน ทั้งคู่เป็นเป็นปลาในวงศ์ (Family) Cichlidae วงศ์เดียวกับปลานิล หรือปลาหมอเทศ (Oreochromis mossambicus) มีถิ่นกำเนิดจากแอฟริกาตะวันตก สำหรับปลาหมอ (ไทย) (Common Climbing Perch) จะมีชื่อวิทยาศาสตร์คือ A. testudineus ปลาหมอ (ไทย) จะอยู่ในวงศ์ Anabantidae เป็นที่ทราบกันดีว่าการผสมสายพันธุ์สิ่งมีชีวิตข้ามสปีชี่ส์จะทำได้ยาก หรือถ้าทำจะให้ลูกที่มีแนวโน้มเป็นหมัน ไม่สามารถขยายพันธุ์ต่อได้ ตัวอย่างการผสมสายพันธุ์ระหว่าง เสือ (P. tigris) และสิงโต (P. leo) จะทำให้ได้ “ไทกอน” และ “ไลเกอร์” (P. ?) ซึ่งเป็นหมัน (แต่มีข้อทดลองยกเว้นอยู่บ้าง) แต่ทั้งสามสายพันธุ์นี้ยังอยู่ในสกุลเดียวกันคือ Panthera และในวงศ์เดียวกันคือ Felidae การผสมสายพันธุ์ข้ามวงศ์ยิ่งทำได้ยากขึ้นเป็นทวีคูณ ภาพนี้นำมาจาก [source]
ภาพปลาหมอเทศคางดำ (Blackchin Tilapia) (S. melanotheron) ปลาชนิดนี้จัดอยู่ในวงศ์ Cichlidae เช่นเดียวกับปลานิล, แหล่งที่มา [source]
ภาพปลาหมอ (ไทย) (Anabas testudineus) ปลาชนิดนี้มีขนาดเล็กกว่าเพื่อน จัดอยู่ในวงศ์ที่ต่างกันออกไปจากพวกปลานิลหรือปลาหมอเทศ คืออยู่ในวงศ์ Anabantidae, แหล่งที่มา [source]

เนื่องจากความทนทานต่อสิ่งแวดล้อมและความสามารถในการขยายพันธุ์ จึงมีการศึกษาการผสมสายพันธุ์ระหว่าง S. melanotheron (ปลาหมอคางดำ, ปลาหมอสีคางดำ, ปลาหมอเทศคางดำ ต่อไปนี้เพื่อไม่ให้สับสนจะใช้ชื่อวิทยาศาสตร์ตลอดบทความ) และ O. niloticus (ปลานิล) โดยไม่ใช่วิธีวิศวกรรมพันธุศาสตร์แต่เป็นการจัดให้มีการผสมพันธุ์ตามธรรมชาติในบ่อเลี้ยงหรือแทงค์ที่ควบคุมสภาพแวดล้อม เช่น อุณหภูมิ, pH, และระดับออกซิเจน เพื่อสร้างสภาพที่เหมาะสมสำหรับการผสมพันธุ์ โปรดดูเปเปอร์นี้ Possible genetic reproductive isolation between two tilapiine genera and species: Oreochromis niloticus and Sarotherodon melanotheron (LI Si-Fa et al, 2011)

การผสมพันธุ์นี้ทำไปกลับทั้งเพศผู้-เมีย คือใช้ แม่พันธุ์เป็น O. niloticus กับ พ่อพันธุ์เป็น S. melanotheron และ แม่พันธุ์เป็น S. melanotheron กับ พ่อพันธุ์เป็น O. niloticus

มีการวิเคราะห์โครโมโซมของลูกผสมที่ได้พบว่าทำการวิเคราะห์โครโมโซมของพ่อพันธุ์แม่พันธุ์และลูกผสมมีจำนวนคู่โครโมโซมเหมือนกัน (2n=44) แต่มีความแตกต่างในการจัดเรียงโครโมโซม ปัญหาความแตกต่างทางพันธุกรรมเหล่านี้ที่เกิดขึ้นเป็นผลมาจากกลไกทางพันธุกรรมที่ป้องกันการผสมพันธุ์ข้ามสาย จนทำให้ลูกผสมอาจมีปัญหาด้านการสามารถดำรงชีวิตอยู่รอดและความสามารถในการสืบพันธุ์

ข้อสรุปแรกเบื้องต้นคือ “ปลาหมอเทศคางดำ” (S. melanotheron), “ปลานิล” (O. niloticus) และ “ปลาหมอเทศ” (O. mossambicus) ปลาพวกนี้ทั้งสามสายพันธุ์จัดอยู่ในวงศ์เดียวกันคือ Cichlidae แต่ “ปลานิล” และ “ปลาหมอเทศ” มีความใกล้เคียงกันกันทางสายพันธุ์มากกว่า “ปลาหมอเทศคางดำ” คือสกุล Oreochromis ทั้งคู่นี้มีความห่างจากสายพันธุ์ “ปลาหมอเทศคางดำ” ที่อยู่ในสกุล Sarotherodon และจัดอยู่ในสกุลเดียวกันกับ Galilaea Tilapia (S. galilaeus) ซึ่งปลาชนิดนี้ยังไม่มีชื่อไทย แต่เราอาจลองตั้งดูได้ว่า “ปลานิลกาลิลี” หรือ “ปลาหมอเทศกาลิลี“ แต่ทั้งหมดนี้ยิ่งอยู่ห่างจาก “ปลาหมอ (ไทย)” ซึ่งจัดอยู่ในคนละวงศ์กันไปเลยคือวงศ์ Anabantidae

ข้อสรุปต่อมา มีการทดลองผสมสายพันธุ์ระหว่าง “ปลาหมอเทศคางดำ” และ “ปลานิล” ซึ่งอยู่คนละตระกูลแต่จัดอยู่ในวงศ์เดียวกัน ในการเลี้ยงในบ่อปิดที่มีการควบคุมสภาพแวดล้อม การผสมข้ามสปีชี่ส์แบบนี้ยาก แต่ไม่ใช่ว่าทำไม่ได้ เพราะยังอยู่ในวงศ์เดียวกันอยู่ แต่ผลการทดลองออกมาตามงานวิจัยระบุว่าลูกผสมจากทั้งสองพันธุ์ไม่ว่าจะใช้ แม่พันธุ์ หรือพ่อพันธุ์จากสปีชี่ส์ไหนก็ให้ลูกผสมที่ไม่เสถียรและไม่เหมาะสมกับการเพาะพันธุ์

ข้อสรุปถัดไป คือมีการห้ามปล่อย “ปลาหมอเทศคางดำ” (S. melanotheron) ในแหล่งน้ำเปิดในไทย เพราะอาจมีผลคุกคามต่อสายพันธุ์ท้องถิ่น ตามประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง กำหนดชนิดสัตว์น้ำที่ห้ามนำเข้า ส่งออก นำผ่าน หรือเพาะเลี้ยง พ.ศ. 2561 ดูรายการที่ 56 ในตารางรายชื่อ “จำพวกปลาน้ำจืดมีชีวิต” ซึ่งจะใช้ชื่อว่า “ปลาหมอสีคางดำ” แต่ใช้ชื่อเรียกภาษาอังกฤษ (Blackchin tilapia) และชื่อวิทยาศาสตร์ (Sarotherodon melanotheron) ตรงกันกับบทความนี้

ข้อสรุปสุดท้าย คือ “ปลานิล” (O. niloticus) มีผลคุกคามสิ่งมีชีวิตท้องถิ่นหรือไม่ คำตอบคือมีบ้างแต่ไม่มากเท่า “ปลาหมอเทศคางดำ” มีลักษณะเป็นไปตามธรรมชาติมากกว่า คือหากมีสิ่งมีชีวิตสายพันธุ์ใดสายพันธุ์หนึ่งเข้มข้นมากเกินไปก็จะส่งผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีววิทยา โปรดอ่านบทความนี้ เพิ่มเติม

หมายเหตุ

1) โปรดดูข้อมูลการปรับปรุงสายพันธุ์ปลานิล, ปลาประเภทอื่น, กุ้งก้ามกราม ไปจนถึงไม้น้ำอนูเบียส ต่าง ๆ ตั้งแต่ จิตรลดา 3, จิตรลดา 4, เร้ด 1, เร้ด 2, ปทุมธานี 1, ชุมพร 1, ซิลเวอร์ 1 ซี, ซิลเวอร์ 2 เค, คอม 1, โรห์ 1, มา 1, มาโคร 1, อนูเจ็น 1 ที่นี่

2) จากรายงานการวิจัย (อภิรดีและคณะ, 2022) ที่มาของการแพร่ระบาดของปลาหมอสีคางดำ โดยข้อมูลระยะห่างทางพันธุศาสตร์ และการจัดลำดับความสัมพันธ์เชิงวิวัฒนาการ ชี้ให้เห็นว่าประชากรปลาหมอสีคางดำที่แพร่ระบาดในประเทศไทยมีแหล่งที่มาร่วมกัน

3) มีงานวิจัยบ่งชี้โรคที่เป็นสาเหตุการตายของปลานิลซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อผลผลิต

4) รายงานข่าวเรื่องซีพีเอฟชี้แจงต่อ กมธ อุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ และนวัตกรรม เรื่องขั้นตอนการนำเข้าและการจัดการลูกปลาหมอคางดำจากประเทศกานา (25 กรกฎาคม 2567)

--

--

Kan Yuenyong
Kan Yuenyong

Written by Kan Yuenyong

A geopolitical strategist who lives where a fine narrow line amongst a collision of civilizations exists.

No responses yet